ปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ ระวังโดนไล่ออก

4

“ใบรับรองแพทย์” นอกจากจะมีไว้สำหรับยืนลาป่วยตามข้อกำหนดของบริษัท เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันเมื่อต้องหยุดงาน ยังนำไปยื่นประกอบการเคลมประกัน การทำใบขับขี่ เป็นต้น ปัจจุบันมีการใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมกันมาก ขายกันใบละไม่กี่ร้อย รู้ไหมว่าการกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดมีโทษทางกฎหมาย

ใบรับรองแพทย์คืออะไร? 

เป็นเอกสารประเภทหนึ่ง ที่โดยทั่วไปจะเขียนในกระดาษที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะ (ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์) โดยหน้ากระดาษนั้นอาจมีคำว่าใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองใบแพทย์ หรือข้อความอื่นที่แสดงว่าเป็นเอกสารที่ออกจากแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม 

การปลอมหรือแก้ไขใบรับรองแพทย์มีความผิดอย่างไร? 

การใช้ใบรับรองแพทย์ที่ถูกปลอมแปลงหรือแก้ไข จะมีความผิดแตกต่างกันตามลักษณะการนำไปใช้ ได้แก่ 

1. การแก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ โดยไม่ได้ไปตรวจจริง และผู้ออกใบรับรองแพทย์ไม่ได้เป็นแพทย์ออก

การกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดในข้อหาปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2. การนำใบรับรองแพทย์ปลอมไปให้นายจ้าง

การกระทำนี้ถือเป็นการทุจริต หรือเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง สามารถถูกไล่ออกได้โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 (1) 

3. การใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมในหน่วยงานราชการ

มีความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่ใช้สำหรับหน่วยงานนั้นๆ รวมถึงมีโทษทางวินัยตามมาด้วย 

4. แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ทำการตรวจจริง

สำหรับแพทย์จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาที่ว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9 กำหนดว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นเท็จ โดยตั้งใจหรือให้ความเห็นโดยไม่สุจริตในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาชีพ ซึ่งอาจจะถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 

การตรวจสอบใบรับรองแพทย์ว่าจริง ทำได้อย่างไร ? 

เมื่อได้รับใบความเห็นแพทย์มาท ให้นำชื่อ-นามสกุลและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ระบุในใบความเห็นแพทย์ ตรวจสอบผ่านเว็บไซต์แพทยสภา ที่ลิงค์นี้  https://checkmd.tmc.or.th/ ฐานข้อมูลนี้จะเปิดให้ ใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเป็นใบรับรองแพทย์ปลอม จะตรวจไม่พบ ชื่อ-นามสกุล ของแพทย์ หรือพบชื่อ-นามสกุลแต่เลขที่ใบประกอบวิชาชีพไม่ใช่ของท่านนั้น ซึ่งใบรับรองเถื่อนจะตั้งเลขที่ใบประกอบวิชาชีพขึ้นมาเอง  

การใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากทางบริษัท หรือหน่วยงานตรวจพบ อาจถูกไล่ออกได้ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง